บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง การพัฒนาโซ่อุปทานหมุนเวียนอาหารเพื่อลดการสูญเสียขยะอาหารในจังหวัดเชียงราย

Title THE DEVELOPMENT OF CIRCULATION FOOD SUPPLY CHAIN TO REDUCE FOOD WASTE IN CHIANG RAI

ไพโรจน์ ด้วงนคร[1], วัชระ วัธนารวี[2], ขวัญเรือน สินณรงค์[3]


บทคัดย่อ

การวิจัยแบบผสมผสานนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจปริมาณขยะอาหารในจังหวัดเชียงราย 2) สำรวจวิธีการใช้ประโยชน์จากขยะอาหาร 3) สำรวจความต้องการใช้ขยะอาหารในจังหวัดเชียงราย 4) วิเคราะห์ปัจจัยเชิงอิทธิพลของพฤติกรรมในการลดขยะอาหาร และ 5) พัฒนาระบบโซ่อุปทานหมุนเวียนขยะอาหารในจังหวัดเชียงราย โดยการศึกษาเชิงคุณภาพ ใช้กระบวนการสำรวจร้านค้า จำนวน 50 ร้าน การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ จำนวน 33 ร้าน และ การสนทนากลุ่ม จำนวน 11 กลุ่ม ส่วนศึกษาเชิงปริมาณ ใช้การแจกแบบสอบถาม 974 คน เก็บข้อมูลโดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยสมการถดถอยพหุเพื่อหาปัจจัยสำคัญ และการวิเคราะห์สมการเชิงโครงสร้างแบบการวิเคราะห์เชิงสำรวจ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

ในด้านปริมาณขยะอาหาร ร้านอาหารส่วนใหญ่มีขยะอาหารเหลือโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15% -30% ส่วนผู้บริโภคในครัวเรือนจะมีของเหลือประมาณ 11% – 20%  ส่วนการใช้ประโยชน์จากขยะอาหารส่วนใหญ่จะสามารถกำจัดเศษอาหารได้เกือบหมด โดยการนำไปเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย การนำไปผสมกับเชิ้อจุลินทรีย์ เพื่อการนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพดิน

ด้านความต้องการใช้ขยะอาหารนั้น แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ ขยะอาหารจากของเหลือจากการรับประทาน ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ได้ แต่ไม่ต้องการนำขยะอาหารเข้ามาเพิ่มอีกแล้ว ประเด็นที่สอง หากมีโครงการจัดจำหน่ายอาหารเหลือจากการขายของร้านอาหารในจังหวัด กลุ่มตัวอย่างที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการเป็นส่วนใหญ่

เมื่อทำการวิเคราะห์ด้วยการถดถอยพหุคูณด้วยวิธี Stepwise ได้สมการค่ามาตรฐาน คือ

Fd_waste = 0.236Fd_choice*** + 0.248Fin_Att*** + 0.222Prc_Bh*** + 0.103Soc_Rel*** + 0.112Fd_surp*** – 0.111Sub_norm*** + 0.071Per_Att*

โดยมีค่า Adjustd R2 เท่ากับ 0.301

สุดท้าย ในการพัฒนาระบบโซ่อุปทานหมุนเวียนขยะอาหารนั้นควรมีการเพิ่มมูลค่าขยะอาหารด้วยการสร้างเครือข่ายระหว่างส่วนราชกา รหน่วยงาน หรือองค์กร ร่วมกับร้านอาหารและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสร้างระบบแยกขยะอาหารให้ชัดเจนและนำไปปฏิบัติร่วมกันได้จริง คัดแยกขยะอาหารตามประเภทที่สามารถใช้งานได้  และการสร้างการรับรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดขยะอาหาร

คำสำคัญ ขยะอาหาร เชียงราย

Abstract

This mixed-method research aims to: 1) investigate the quantity of food waste in Chiang Rai province, 2) explore ways to utilize food waste, 3) examine the demand for food waste in Chiang Rai province, 4) analyze the influential factors of behavior in reducing food waste, and 5) develop a circular economy system for food waste in Chiang Rai province through qualitative study. The research methodology includes surveys conducted in 50 food establishments, interviews with 33 business owners, and focus group discussions with 11 groups. Quantitative study was conducted using questionnaires distributed to 974 individuals. Data was collected through a multi-stage sampling process. The data was analyzed using multiple regression equations to identify significant factors, as well as structural equation modeling for survey analysis. The research findings are as follows:

    In terms of the quantity of food waste, most restaurants have an average of 15% to 30% food waste, while households have approximately 11% to 20% of food waste. Regarding the utilization of food waste, the majority can effectively dispose of food scraps by using them as animal feed, fertilizer, or by mixing them with microorganisms to improve soil quality.

Concerning the demand for food waste, there are two main issues. First, food waste from consumption is mostly used as fertilizer or animal feed, there is no need for additional food waste. Second, if there is a program for distributing surplus food from restaurants in the province, a significant portion of the sample group expressed interest in participating.

The Multiple Linear Regression analysis using the Stepwise method yielded the standardized equation as follows:

Fd_waste = 0.236Fd_choice*** + 0.248Fin_Att*** + 0.222Prc_Bh*** + 0.103Soc_Rel*** + 0.112Fd_surp*** – 0.111Sub_norm*** + 0.071Per_Att*

With an Adjusted R2 value of 0.301.

Lastly, to develop a Circulation Food Supply Chain to Reduce Food Waste, it is essential to add value to food waste by creating networks among government agencies, organizations, restaurants, and stakeholders. This should include clear food waste separation systems and awareness campaigns to encourage behavior changes to reduce food waste.

Keyword Food waste, Chiang Rai

บทนํา

ในจำนวนทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพทั่วไป เป็นที่ยอมรับกันว่าปัจจัย 4 เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่สำคัญที่สุด ผู้ผลิตอาหารมีหน้าที่ในการผลิตอาหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ถ้าไม่มีการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิต อาหารที่ผลิตออกมาส่วนหนึ่ง จะกลายเป็นขยะอาหาร(Food Waste) ในที่สุด (กรณิศ, 2562) ซึ่งขยะอาหาร หรือ ของเสียเหลือทิ้งที่ได้จากการประกอบอาหารและรับประทาน  จากข้อมูลขยะองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) อาหารที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อการบริโภคของมนุษย์ทั่วโลก ในส่วนหนึ่งกลายเป็นเศษอาหารเหลือทิ้งถึง 1 ใน 3 หรือประมาณ 1,300 ล้านตัน ถูกปล่อยให้สูญเสีย (losses) หรือทิ้งเป็นขยะ (waste) ในตลอดห่วงโซ่อาหาร  ขณะที่มีประชากรทั่วโลกต้องเผชิญความหิวโหยถึง 870 ล้านคน หรือ ประชากร โลก 1 ใน 8 คน ในประเทศยากจนยังคงอดอยากหิวโหย ขยะอาหารจึงเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ (เจษฎา, 2561) ในด้านสังคมปัญหาความขาดแคลนของอาหารทวีความรุนแรงตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ในด้านเศรษฐกิจ การจัดการอย่างเป็นระบบจะช่วยสร้างอาหารและรายได้กับเกษตรกร และด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวพันกับ ระบบนิเวศวิทยา ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และภาวะโลกร้อน อีกทั้งอาหารที่ถูกทิ้ง ไม่เพียงแต่สิ้นเปลืองทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เพาะปลูก เช่น ที่ดิน น้ำ พลังงาน และปัจจัยการผลิตอื่นๆ แต่ยังรวมถึงการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย (Gustavsson et al., 2011)

จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่มีที่ตั้งและภูมิอากาศที่ดี มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ  มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นประการสำคัญ ทั้งนี้ธุรกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เป็นธุรกิจที่มีอาหารเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญในการดำเนินการ เป็นธุรกิจที่อยู่ตรงกลางของโซ่อุปทานอาหาร (Mid-Stream) โดยมีส่วนต้นน้ำ (Upstream) คือ เกษตรกรผู้ส่งมอบวัตถุดิบในการประกอบอาหาร และมีผู้บริโภค เป็นส่วนปลายน้ำ (Downstream) ดังนั้น การศึกษาบริหารจัดการอาหารขยะของโซ่อุปทานอาหาร เพื่อพัฒนาเป็นโซ่อุปทานหมุนเวียนอาหารเพื่อลดการสูญเสียขยะอาหารในจังหวัดเชียงรายเพื่อพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ การศึกษาครั้งนี้จึงให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอาหาร ตลอดโซ่อุปทานอาหารในจังหวัดเชียงราย โดยจะทำการสำรวจปริมาณขยะอาหาร รวมทั้งวิธีการใช้ประโยชน์จากขยะอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการใช้ขยะอาหารในจังหวัดเชียงราย เพื่อพัฒนาระบบโซ่อุปทานหมุนเวียนขยะอาหารในจังหวัดเชียงราย

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  1. เพื่อสำรวจปริมาณขยะอาหารในจังหวัดเชียงราย
    1. เพื่อสำรวจวิธีการใช้ประโยชน์จากขยะอาหาร
    1. เพื่อสำรวจความต้องการใช้ขยะอาหารในจังหวัดเชียงราย
    1. วิเคราะห์ปัจจัยเชิงอิทธิพลของพฤติกรรมในการลดขยะอาหาร
    1. เพื่อพัฒนาระบบโซ่อุปทานหมุนเวียนขยะอาหารในจังหวัดเชียงราย

กรอบแนวคิดและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง

ภาพที่ 1 เศรษฐกิจแบบเส้นตรง เศรษฐกิจหมุนเวียน และโซ่อุปทานอาหาร

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ กรอบการทำงานทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นด้านการจัดการทรัพยากรอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้มีส่วนใดถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า โดยการนำทรัพยากรต่างๆ มาใช้ซ้ำหรือใช้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งแต่เดิมกิจกรรมทางเศรษฐกิจในโลกนี้ ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) มาโดยตลอด โดยมีวงจรของระบบจากการนำทรัพยากรมาใช้ (Take) ผ่านกระบวนการผลิต (Make) เพื่อการอุปโภคบริโภค จากนั้นจึงเป็นการทิ้ง (Dispose) หรือกลายเป็นขยะ อันก่อให้เกิดปัญหาขยะจำนวนมาก จึงมีการนำหลักการของเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน มาปรับใช้ โดยมีแนวคิดในการหมุนเวียนเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นการลดการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยของเสีย ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ในที่สุดกระบวนการทิ้งหรือขยะในระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง จะถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ (Geissdoerfer et al., 2017; Kalmykova et al., 2018)

ทฤษฎีการกระทำด้วยเหตุผล (Theory of Reasoned Action: TRA) และทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน (Theory of Planned Behavior: TPB) Ajzen (1977)  และ Fishbein (1977) ได้นำเสนอแนวความคิดของการกระทำด้วยเหตุผล โดยมีแนวคิดว่าความเชื่อและทัศนคติมีความสัมพันธ์ระหว่าง ทฤษฏีนี้ยังได้อธิบายว่า ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดการแสดงพฤติกรรมประกอบด้วย เจตนาแสดงพฤติกรรม (Behavioral intention) ซึ่งมีปัจจัย 2 ประการที่ ได้แก่ ทัศนคติต่อพฤติกรรม (Attitude) และการคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง (Subjective Norm) ต่อมา Icek Ajzen (Ajzen, 1991)ได้พัฒนาทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน ซึ่งต่อยอดการพัฒนามาจากทฤษฎีการกระทำด้วยเหตุผล โดยได้อธิบายว่า พฤติกรรม (Behavior) ที่ถูกแสดงออกมาเป็นผลมาจาก เจตนา (Intention) ซึ่งมีปัจจัย 3 ประการที่มีอิทธิพลต่อการก่อให้เกิดเจตนา ได้แก่ ทัศนคติต่อพฤติกรรม (Attitude Toward the Behavior) การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง (Subjective Norm) และการรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม (Perceived Behavioral Control) ทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน ได้เพิ่มปัจจัยด้านการรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม (Perceived Behavioral Control) เข้ามา ต่อมาในปี ค.ศ. 2000 Ajzen ได้ปรับปรุงทฤษฎีพฤติกรรมตามแผนอีกครั้ง (Ajzen et. al.}2000).  โดยได้เพิ่มเนื้อหาในส่วนของ การควบคุมพฤติกรรมที่แท้จริง (Actual Behavioral Control) ซึ่งจะส่งผลต่อการรับรู้การควบคุมพฤติกรรม (Perceived Behavioral Control) และพฤติกรรม (Behavior)

ในการศึกษาของ Aktas et al. (2018) และ Bhatti et al. (2019) อธิบายได้ว่าพฤติกรมในการใช้ขยะอาหารให้เป็นประโยชน์ (Food Waste Behavior) เป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยคือ ความตั้งใจในการใช้ประโยชน์จากขยะอาหาร (Intention on Food Waste) และประโยชน์ในการใช้งานจากขยะอาหาร (Benefit from Waste Food) โดยความตั้งใจในการใช้ประโยชน์จากขยะอาหาร (Intention on Food Waste) เองก็มีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบคือ ทัศนคติต่อพฤติกรรมเกี่ยวกับขยะอาหาร (Attitude To Food waste) การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง (Subjective Norm) ในการใช้งานขยะอาหาร  และการรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม (Perceived Behavioral Control) หรือ ความเชื่อของบุคคลที่มีต่อการแสดงพฤติกรรมและสามารถควบคุมพฤติกรรมที่เกี่ยวกับขยะอาหาร ในขณะเดียวกันประโยชน์ในการใช้งานจากขยะอาหาร (Benefit from Waste Food) ก็มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ ความสัมพันธ์ในสังคมของธุรกิจจนถึงผู้บริโภคในโซ่อุปทานอาหาร (Social Relationship) และปริมาณอาหารส่วนเกิดที่ก่อให้เกิดขยะอาหาร (Food Surplus)

ดังนั้น ตัวแปรที่จะใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณครั้งนี้ประกอบด้วย ตัวแปรต้นจำนวน 9 ตัว ได้แก่ ทัศนคติส่วนตัว (Personal attitudes: Per_Att) บรรทัดฐาน (Subjective Norm: Sub_norm) การรับรู้การควบคุมพฤติกรรม (Perceived Behavioral control: Prc_Bh) แรงจูงใจในการเลือกอาหาร (Food choice motives: Fd_choice) การวางแผน (Planning: Plan) ทัศนคติทางการเงิน (Financial Attitude: Fin_Att) ความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relationship: Soc_Rel) อาหารส่วนเกิน อาหารส่วนเกิน (Food surplus: Fd_surp) ความตั้งใจ (Intensions: Intend) และตัวปรตามได้แก่ ขยะอาหารหรือเศษอาหาร (Food waste: Fd_waste)

ขอบเขตของการวิจัย

  1. ขอบเขตด้านเนื้อหา

ศึกษาเนื้อหาเกี่ยวกับขยะอาหาร (Food Waste) ที่เกิดขึ้นจากการนำไปใช้ ตั้งแต่ขั้นตอนเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร จนกระทั่งขยะอาหารที่เหลือจากการบริโภค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสูญเสียอาหาร (Food Loss) ตามนิยามขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ

  • ขอบเขตด้านประชากรที่ศึกษา

ประกอบด้วยประชากร 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีอาหารเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญในการดำเนินการ ได้แก่ ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท ในจังหวัดเชียงราย กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเชียงรายที่สามารถนำขยะอาหารไปใช้งานต่อได้ กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มผู้บริโภคอาหารทั่วไป

วิธีดําเนินการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสานวิธี โดยมีประชากรและกลุ่มตัวย่างที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 3 กลุ่ม โดย กลุ่มที่ 1 ได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีอาหารเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญในการดำเนินการ ได้แก่ ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งจากการออกเก็บข้อมูลได้เข้าสัมภาษณ์ผู้ประกอบการจำนวนรวมทั้งสิ้น 33 แห่ง และออกสำรวจข้อมูลเบื้องต้นจากร้านอาหารและแผงลอยจำนวน 50 แห่ง โดยใช้วิธีการสุ่มแบบลูกโซ่ (Snowball Sampling)

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเชียงรายที่สามารถนำขยะอาหารไปใช้งานต่อได้ โดยมีชุมชน กลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ เป็นกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งได้ออกประชุมสนทนากลุ่มจากชุมชนเกษตรกรต่าง ๆ จำนวน 11 แห่ง โดยใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling)

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มผู้บริโภคอาหารทั่วไป ได้แก่ ประชาชนในจังหวัดเชียงราย ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ให้ข้อมูลจากแบบสอบถาม อันเป็นส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณ ได้แก่ ประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 1,198,218 คน จาก 18 อำเภอ (สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย) สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มแบบหลายชั้น (Multi Stage Sampling) โดยจะเริ่มโดยการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม Cluster or Area Sampling) ก่อน จากนั้นจึงใช้การสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) ตามจำนวนประชากรในอำเภอต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลให้ได้ครบถ้วนตามจำนวนที่กำหนด และครอบคลุมเป็นตัวแทนประชากรที่ดีได้ โดยในขั้นแรก ด้วยเหตุผลเรื่องของระยะเวลาในการวิจัย และสวัสดิภาพในการเดินทางในระยะเวลาตต่าง ๆ คณะผู้วิจัยได้ทำการจัดกลุ่มอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงราย ทั้งหมด จำนวน 18 อำเภอ โดยใช้เกณฑ์ระยะทางที่ใกล้เคียงกัน ลักษณะเชื้อชาติ และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ได้ดังนี้ตารางที่ 1 การจัดกลุ่มอำเภอ ในจังหวัดเชียงรายโดยใช้เกณฑ์ระยะทางที่ใกล้เคียงกัน ลักษณะเชื้อชาติ และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน

เมื่อทำการเก็บข้อมูลและตรวจสอบความสมบูรณ์ถูกต้องของแบบสอบถาม ได้แบบสอบถามที่สมบูรณ์จำนวน 974 ฉบับ  เมื่อนำมาคำนวณจำนวนประชากร และจำนวนตัวอย่างตามสัดส่วนจะได้แบบสอบถามตามจำนวนกลุ่มตัวอย่างและการแบ่งชั้นภูมิดังนี้

ตารางที่ 2 จำนวนตัวอย่าง

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

ในกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างและแบบบันทึกการสนทยากลุ่ม ในกระบวนการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถาม เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล โดยแบ่งเป็น 4 ตอน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ตอนที่ 1 เป็นข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้ตอบแบบสอบถาม

ตอนที่ 2 เป็นการถามเกี่ยวกับปริมาณและการจัดการขยะอาหาร เป็นข้อคำถามแบบเลือกตอบ

ตอนที่ 2 ทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะอาหาร เป็นข้อคำถามในตัวแปรที่ใช้การวิจัยจำนวนรวมทั้งสิ้น 35 ข้อ เป็นข้อคำถามแบบมาตราส่วนประเมินค่า (rating scale) ตามแบบของไลเคิร์ท (Likert scale) 5 ระดับคือ

ตอนที่ 4 เป็นการถามปลายเปิด แสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะต่าง ๆ

ผลการวิจัย

ปริมาณขยะอาหาร

การสำรวจปริมาณขยะอาหารด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่า จากการสำรวจร้านค้าจะมีของเหลือ จากอาหารโดยเฉลี่ยแล้วส่วนใหญ่จะมีของเหลือประมาณ 10% – 15% โดยร้านที่มีอาหารเหลือน้อยที่สุดคือ 3% ร้านที่มีของเหลือมากที่สุดคือ 20% จากการสนทนากลุ่มจากชุมชนต่าง ๆ  มีอาหารเหลือน้อยที่สุดจากการทำอาหารให้พอกับแต่ละมื้อ โดยอาหารที่เหลือจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่มีอาหารเหลือเลย ในขณะที่จากการสัมภาษณ์พบว่าร้านค้าจะมีขยะอาหารเหลือโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15% -30% ของเหลือที่เป็นส่วนวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ซึ่งบางส่วนสามารถนำไปใช้ในวันถัดไปได้ ในขณะที่ของเหลือจากการขาย จะมีจำนวนมากในช่วงประมาณ 10% – 20% แต่อาหารที่เหลือจากลูกค้าจะมีจำนวนมากที่สุด อาจมากถึง 50% จากการวิจัยเชิงปริมาณ พบว่าปริมาณขยะอาหารที่แต่ละครัวเรือนส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 11% – 20%

ในด้านวิธีการใช้ประโยชน์จากขยะอาหาร พบว่าส่วนใหญ่จะสามารถกำจัดเศษอาหารได้เกือบหมด โดยการนำไปใช้ในด้านการเกษตร เช่น การนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์หรือนำไปเป็นปุ๋ยผ่านถังแยกขยะที่ได้รับแจกจากหน่วยงานราชการ ตลอดจนการนำไปผสมกับเชิ้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อการนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อการเกษตร

ขยะจากอาหารส่วนใหญ่จะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยไม่พบขยะอาหารในอาหาร ได้แก่ ไข่ไก่ ไส้กรอก เบคอน ในกระบวนการจัดเตรียมวัตถุดิบ ส่วนผักและผลไม้ ขยะอาหารที่เกิดมีเป็นส่วนน้อย การจัดการคือจะมีเกษตรกรมารับไปเพื่อเลี้ยงสัตว์ ในส่วนเนื้อสัตว์นั้นแทบจะไม่มีขยะอาหารเกิดขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่จะจัดสรรให้เหมาะแก่การนำไปใช้ปรุงอาหาร มีขยะเปียกจากอาหารที่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้เพียงส่วนน้อย ก็จะส่งต่อให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต่อไป ดังนั้น เศษขยะจากอาหารจึงเหลือส่วนที่นำทิ้ง ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นเพียงส่วนน้อยมากๆ จนอาจกล่าวได้ว่าไม่มีเหลือเลย

อย่างไรก็ดี พบว่าการจัดเก็บหลังการขายคืนขั้นตอนสุดท้ายของการบริการร้านอาหารหลังจากที่ลูกค้าทานอาหารเรียบร้อยแล้ว จะเกิดขยะอาหารมากที่สุด ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมของลูกค้าโดยเฉพาะคนไทยที่มีพฤติกรรม ชอบทานอาหารหลากหลาย ไม่นิยมอาหารจานเดียว ต้องการความสวยงามอาหารเพื่อถ่ายรูป เป็นสาเหตุให้ทานอาหารไม่หมดและเกิดขยะอาหาร

ในขณะที่จากการวิจัยเชิงปริมาณพบว่า การกำจัดเศษอาหารของครัวเรือนทั่วไป จะใช้วิธีการใส่ถุง ทิ้ง รวมกับขยะอื่น มากถึงร้อยละ 54.2 รองลงมาเป็นการใส่ถังกำจัดขยะ เพื่อทำปุ๋ย หรือเอาไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ร้อยละ 30.1 และมีคนมารับไปทำประโยชน์อื่น ๆ ร้อยละ 14.9

การสำรวจความต้องการใช้ขยะอาหารในจังหวัดเชียงราย

จากผลการสำรวจแบ่งเป็น 2 ประเด็นด้วยกันคือประเด็นแรกขยะอาหารจากของเหลือจากการรับประทาน ส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ ทั้งนี้แต่ละร้านอาหารและชุมชน เกือบทั้งหมดต้องการกำจัดทิ้ง โดยไม่ต้องการนำขยะอาหารเข้ามาเพิ่ม

ประเด็นที่สอง ขยะอาหารที่เหลือจากการขาย และยังสามารถนำมารับประทานได้ พบว่าชุมชนส่วนใหญ่ เห็นว่าหากนำมาจัดจำหน่ายด้วยการลดราคา ก็เป็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการนำมาจำหน่ายในลักษณะรถเร่เข้าไปในชุมชน หรือการจัดจุดจำหน่ายที่ชัดเจน มีหน่วยงานที่เชื่อถือได้เป็นผู้ดูแลควบคุม ซึ่งจากผลการสำรวจเชิงปริมาณพบว่า หากมีโครงการจัดจำหน่ายอาหารเหลือจากการขายของร้านอาหารในจังหวัด กลุ่มตัวอย่างที่สนใจจะซื้ออาหารจากโครงการมากถึงร้อยละ 88.5

ปัจจัยเชิงอิทธิพลของพฤติกรรมในการลดขยะอาหาร

จากการวิเคราะห์หาปัจจัยสำคัญต่อการลดขยะอาหารด้วยการวิเคราะห์ถดถอยพหุ

ตารางที่ 2 ผลการวิเคราะห์สมการการถดถอยพหุคูณ

จากตารางที่ 1 พบว่า ค่า F-test ของสมการการถดถอยพหุคูณด้วยวิธี Stepwise ในตัวแบบที่ 7 มีค่าเท่ากับ 60.824 โดยมีค่า Sig. เท่ากับ 0.000 สมการการถดถอยนี้มีความเหมาะสม โดยมีตัวแปรที่ใช้ทั้งหมด 7 ตัวด้วยกัน

ตารางที่ 3   อิทธิพลของตัวแปรต้นต่าง ๆ ต่อการจัดการขยะอาหารโดยการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณด้วยวิธี Stepwise

จากตารางที่ 3 ค่า Variance inflation factor (VIF) ของตัวแปรอยู่ระหว่าง 1.067 – 1.445 ซึ่งไม่เกิน 4 และค่า Tolerance มีค่าระหว่าง  0.692 – 0.937 แสดงว่าตัวแปร ตัวแปรที่นำมาใช้พยากรณ์ไม่มีความสัมพันธ์กันสูงเกินไป และเขียนเป็นสมการค่ามาตรฐานได้ดังนี้

Fd_waste = 0.236Fd_choice*** + 0.248Fin_Att*** + 0.222Prc_Bh*** + 0.103Soc_Rel*** + 0.112Fd_surp*** – 0.111Sub_norm*** + 0.071Per_Att*

อธิบายได้ว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดการขยะอาหารทางบวกมากที่สุดคือ ทัศนคติทางการเงิน (Fin_Att) โดยมีอิทธิพล 0.248 รองลงมาได้แก่ แรงจูงใจในการเลือกอาหาร (Fd_choice) โดยมีอิทธิพล 0.236 อันดับสามได้แก่ การรับรู้การควบคุมพฤติกรรม (Prc_Bh) โดยมีอิทธิพล 0.222 และอาหารส่วนเกิน (Fd_surp) มีอิทธิพล 0.112 ความสัมพันธ์ทางสังคม (Soc_Rel) มีอิทธิพล 0.103 โดยทั้งหมดนี้มีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ในขณะที่ตัวแปรด้านทัศนคติส่วนตัว (Per_Att) มีอิทธิพล 0.071โดยมีระดับนัยสำคัญ 0.05 ตัวแปรที่มีอิทธิพลทางลบต่อการจัดการชยะอาหารได้แก่ บรรทัดฐานส่วนตัว (Sub_norm) ที่มีอิทธิพล 0.111 ณ ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.001ค่า Adjustd R Square มีค่าเท่ากับ 0.301 แสดงว่าตัวแปรต้นทั้ง 7 ตัว สามารถอธิบายตัวแปรตามได้ร้อยละ 30.1

การพัฒนาระบบโซ่อุปทานหมุนเวียนขยะอาหารในจังหวัดเชียงราย

จากผลการศึกษา สามารถสรุปได้ว่า ปัญหาเรื่องเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคนั้น ไม่มีปัญหามากนัก เนื่องจากทางร้านอาหารจะมีเกษตรกรนำไปเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง หรือใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ในชุมชนต่าง ๆ ที่ทำการเกษตรและมีพื้นที่ จะสามารถนำเศษอาหารไปใช้ประโยชน์ททางการเกษตรได้เช่นกัน แต่ปัญหาของขยะอาหารจะเกิดในพื้นที่ตัวเมืองเป็นหลัก เนื่องจากไม่ได้ทำการเกษตร หรือไม่มีพื้นที่ฝังถังแยกขยะ จึงจำเป็นต้องนำขยะไปทิ้ง จะเห็นได้จากปัญหาในการไม่แยกขยะที่บ้านที่พบว่า เหตุผลที่ไม่แยกขยะอาหารที่บ้าน คือ เห็นว่าถึงแยกแล้ว สุดท้ายคนเก็บขยะก็เอาไปรวมกันอยู่ดี มากถึงร้อยละ 44.4 ผู้ที่ไม่รู้ว่าจะแยกอย่างไร ร้อยละ 23.6 ทั้งยังมีกลุ่มที่เห็นว่าการแยกขยะอาหารยุ่งยากเกินไป ร้อยละ 22.7 กลุ่มที่เห็นว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไป ร้อยละ 5.7 และเห็นว่าแยกไปก็ไม่ได้อะไรตอบแทน จะช่วยลดปัญหาขยะอาหารได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ชุมชนและร้านอาหารมีความเห็นว่าขยะอาหารมีประโยชน์ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วยการนำไปทำปุ๋ย ปุ๋ยหมักและ น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งหากมีเครือข่ายหรือบุคคลที่สามารถรับขยะอาหารเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ ดังนั้น ควรมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาบริหารจัดการขยะร่วมกัน เพื่อให้มีแนวทางการจัดการในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งหากมีโครงการเกี่ยวกับการจัดการขยะอาหารเพื่อส่วนรวม เช่น นำอาหารที่เหลือจากการขายไปขายลดราคา แล้วทางร้านอาหารส่วนใหญ่มีความยินดีที่จะเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ในส่วนของผู้บริโภคเห็นว่าหากมีโครงการจัดจำหน่ายอาหารเหลือจากการขายของร้านอาหารในจังหวัด มีผู้ที่สนใจจะซื้ออาหารจากโครงการเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ ยังควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้แปรรูปสมุนไพรกับเครือข่ายร้านอาหารเพื่อสนับสนุนให้ร้านอาหารนำสมุนไพรพื้นบ้านมาใช้ในการเสริฟเครื่องเคียง หรือตกแต่งอาหารเพื่อเป็นการส่งเสริมเกษตร และนำสมุนไพรมาใช้ในจานอาหารให้สวยงามดึงดูด น่าสนใจ ให้ลูกค้าได้ลองชิม ในส่วนสมุนไพรที่เหลือจากการใช้ตกแต่ง ก็นำส่งต่อให้กลุ่มแปรรูปสมุนไพร นำไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไป

อภิปรายผล

ผลจากศึกษาทั้งการสำรวจ จัดสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์ เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ การที่ชุมชนต่าง ๆ สามารถกำจัดขยะอาหารได้เกือบทั้งหมด เนื่องจากความเข้มแข็งของตัวชุมชนเองเป็นหลัก ยิ่งชุมชนมีความเข้มแข็ง การจัดการต่าง ๆ จะเป็นไปได้อย่างดี โดยพบว่าเป็นการประสานการทำงานของกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ ของชุมชนได้ เริ่มจากการได้ถังแยกขยะจากหน่วยงานราชการทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลต่าง ๆ นำมาแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน  (อสม.) ที่คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ ในการจัดการให้มีการใช้งานได้อย่างถูกต้อง ในขณะเดียวกันกลุ่มหมอดินประจำหมู่บ้านที่คอยช่วยเหลือในด้านการปรับปรุงคุณภาพดิน การใช้ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ ก็เข้ามาให้ความรู้เรื่องการนำสารชีวภาพประเภท EM และ พ.ด. มาผสมกับขยะอาหารเพื่อให้ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพดีมากขึ้น เหมาะสมเจาะจงกับชนิดของพืช ทั้งยังนำไปใช้ในการไล่แมลงบางชนิดได้ ทำให้การนำขยะอาหารมาใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรอย่างกว้างขวางมากขึ้น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ก็เป็นอีกองค์ประกอบในการสนับสนุน ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วน อย่างจริงจัง ทำให้การแยกขยะอาหารทำได้อย่างแท้จริง และประการสำคัญที่สุดคือความสามัคคี สมานฉันท์เป็นหนึ่งเดียวกันของชาวบ้าน เป็นปัจจัยสำคัญในชุมชนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน การช่วยเหลือเจือจานทั้งวัสดุ อุปกรณ์ ข้อมูลข่าวสารร่วมกัน องค์ประกอบทางสังคมเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริงดังนั้น หากทางการหรือหน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุนชุมชนให้เกิดความรัก สามัคคี ให้ความรู้ในแนวทางต่าง ๆ ที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แต่ละชุมชนได้แล้ว จะสามารถสร้างสังคมที่ดีอันจะส่งผลประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างคณานัป

ทั้งนี้จากผลการศึกษาที่พบว่าพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่ก่อให้เกิดขยะอาหาร เนื่องจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของไทย เป็นการรับประทานอาหารร่วมกัน โดยมีอาหารหลายอย่าง ซึ่งเมื่อหลายคนมาร่วมกัน จึงมีจำนวนอาหารมากตามไปด้วบ และบางครั้งมีการสั่งอาหารเผื่อให้กันอันเป็นน้ำใจของชาวไทยที่ปฏิบัติมานาน ส่งผลให้มีอาหารจำนวนมาก และสุดท้ายก็เหลือเป็นขยะอาหารในที่สุด ดังนั้น ควรมีการศึกษาเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมเหล่านี้ใหม่ อาจจะใช้สื่อต่าง ๆ ทั้งเครือข่ายสังคม ภาพยนต์ ผู้มีอิทธิพลชี้นำสังคม ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปทีละเล็กทีละน้อย จะเป็นการลดขยะอาหารได้อย่างยั่งยืน

จากผลการวิเคราะห์การถดถอยพหุ อธิบายได้ว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดการขยะอาหารมากที่สุดคือ ทัศนคติทางการเงิน ใกล้เคียงกับ แรงจูงใจในการเลือกอาหาร ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าแรงจูงใจในการเลือกอาหารนั้นเกิดจากทัศนคติทางการเงินนั่นเอง โดยมากผู้คนมักจะเลือกอาหารชนิดใด ๆ จะเลือกซื้อมากหรือน้อย อาหารที่มีราคาเท่าใด ย่อมขึ้นกับการเงินของบุคคลนั้น ๆ

ผลการวิเคราะห์จากสมการที่น่าสังเกต ได้แก่ การรับรู้การควบคุมพฤติกรรม อาหารส่วนเกิน และความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีอิทธิพลในทางบวกต่อการจัดการขยะอาหารที่ระดับนัยสําคัญทางสถิติ 0.001 มาก ในขณะที่ตัวแปรด้านทัศนคติส่วนตัว มีอิทธิพลต่อการจัดการขยะอาหารน้อยที่สุด คือ ทั้งยังอยู่ในระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 อีกด้วย นอกจากนี้ บรรทัดฐานส่วนตัว กลับมีอิทธิพลทางลบต่อการจัดการขยะอาหารแสดงถึงปัจจัยส่วนบุคคลนั้น มีผลต่อการจัดการขยะอาหารน้อยมาก แต่ปัจจัยที่เกี่ยวกับสังคม บุคคลรอบข้าง หรือบริบทของบุคคล มิทธิพลต่อการกำจัดอาหารที่มากกว่านั่นเอง ในขณะที่ตัวแปรที่ถูกคัดออกจากสมาการคือ การวางแผน และความตั้งใจ ไม่ส่งผลต่อการจัดการขยะอาหารอย่างมีนัยสำคัญเลย โดยในงานของ Aktas et al. (2018) และ Bhatti et al. (2019) ที่ได้ทบทวนวรรณกรรมมานั้น จะมีผลต่อการจัดการขยะอาหารอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

จากการทบทวนวรรณกรรม ได้ตัวแปรที่สนใจมาจำนวน 9 ตัวแปร แต่เมื่อวิเคราะห์ด้วยสมการถดถอยพหุ กลับมีตัวแปรที่ส่งผลต่อการจัดการขยะอาหารเพียง 7 ตัว ทั้งนี้ คาดว่ามีสาเหคุมาจากความแตกต่างในวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร และวิถีชีวิตของชาวไทย โดยเฉพาะคนในท้องที่จังหวัดเชียงราย ที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับทำเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ทั้งยังมีอัธยาศัย น้ำใจ ที่แตกต่างจากงานวิจัยของต่างชาติที่ได้ทบทวนมา ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงนำตัวแปรทั้ง 9 ตัวมาวิเคราะห์ใหม่ โดยใช้วิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจเพื่อดูว่าหากจัดองค์ประกอบใหม่แล้ว การจัดการขยะอาหารจะมีปงค์ประกอบใดบ้าง

ข้อเสนอแนะ

1. จากผลการศึกษาเห็นได้โดยชัดเจนว่า ปริมาณขยะอาหารในชุมชนที่มีลักษณะของชุมชนเกษตรกรนั้น มีปริมาณขยะจากอาหารน้อยจนถึงไม่มีเลย เนื่องเพราะสามารนำเอาขยะจากอาหารเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรได้อย่างครบถ้วน ซึ่งนอกจากจะเป็นการกำจัดขยะจากอาหารแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในส่วนของร้านค้าเป็นส่วนที่มีปัญหาเพียงเล็กน้อย เนื่องจากสังคมจังหวัดเชียงรายส่วนใหญ่เป็นสังคมที่มีการเกษตรกรรมเป็นพื้นฐาน ทำให้มีความต้องการนำขยะอาหารที่เหลือทิ้งจากร้านอาหารไปทำการเกษตรต่อเนื่องได้อย่างครบวงจร โดยเป็นลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย โดยร้านค้าอาศัยเกษตรกรในการกำจัดขยะอาหาร ในขณะที่เกษตรกรก็ได้อาหารจากร้านค้าไปเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุนในกิจการ ซึ่งอาจมีบางร้านที่ยังไม่มีเกษตรกรไปรับ และเกษตรกรบางส่วนยังต้องการเศษอาหารเพิ่มเติม ในส่วนนี้จึงควรมีการสร้างความสมดุลให้แก่ทั้งสองฝ่าย โดยการที่ตัวกลางเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันและกัน

ปริมาณขยะอาหารในครัวเรือนเป็นส่วนที่มีปัญหามากที่สุดในโซ่อุปทานหมุนเวียนของขยะอาหารทั้งนี้ ในส่วนของครัวเรือนในท้องถิ่นที่ทำการเกษตร มีพื้นที่ในการฝังถังแยกขยะ จะไม่มีปัญหาเท่าใด โดยเฉพาะครัวเรือนของชุมชนในชนบท แต่ปัญหาหลักเกิดในชุมชนเมือง ปัญหาสำคัญคือการไม่มีพื้นที่ขุดหลุมเพื่อฟังถังแยกขยะ จึงจำเป็นต้องนำขยะอาหารไปทิ้งโดยไม่ได้แยก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเหตุผลหลักในการไม่แยกขยะนั้นส่วนใหญ่เห็นว่าถึงแยกแล้ว สุดท้ายคนเก็บขยะก็เอาไปรวมกันอยู่ดี จึงควรอยางยิ่งที่จะมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแยกขยะโดยการแยกรถเก็บขยะระหว่างขยะอาหาร ขยะทั่วไป และขยะอื่น ๆ ที่สำคัญ การให้ความรู้วิธีการกำจัดขยะอาหาร การใช้เทคโนโลยีมาช่วย เป็นต้น

2. นโยบายสาธารณะ กฏหมาย ระเบียบ หรือแม้กระทั่งเทศบัญญัติ เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารบ้านเมือง การจัดการขยะ และการแยกขยะอาหาร ควรมีหน่วยงานหลัก ๆ ที่มีอำนาจบังคับใช้ยกมาพิจารณาเพื่อใช้ร่วมกัน ซึ่งตรงกับความเห็นของ อรอุมา สายเพชรและฆริกา คันธา (2566) ที่ว่ามีหลายประเทศที่นำกระบวนการทางนโยบาย กฏหมายมาใช้ให้เกิดประโยชน์ตลอดโซ่อุปทาน ส่งผลให้ปริมาณขยะอาหารลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากผลการวิจัยอาจนำมาประยุกต์กับสภาพสังคมเกษตรกรรม การช่วยเหลือพึ่งพากันตามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ดีงาม อันจะลดความยุ่งยากซับซ้อนของนโยบาย กฏหมายเหล่านี้ได้ แต่อย่างไรก็ดี นโยบาย กฏหมายเกี่ยวกับการรับประทานอาหารนอกบ้านแล้วเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ควรได้รับการศึกษาและพัฒนาให้มีขึ้น เนื่องเพราะพฤติกรรม และวัฒนธรรมการกินในปัจจับันที่ส่งผลต่ออาหารเหลือที่มากขึ้น ต้องการการป้องปรามมากขึ้นตามลำดับ

3. การศึกษาถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่าง ๆ เช่น บล็อกเชน, IoT และ AI เพื่อการติดตามและการจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ดีขึ้นเพื่อลดของเสีย ประเมินความเป็นไปได้และผลกระทบของทางเลือกเหล่านั้น ความคุ้มค่า เศรษฐกิจ เป็นต้น รวมทั้ง เทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์และการจัดเก็บอัจฉริยะ อาจช่วยในการยืดอายุการเก็บอาหารที่เน่าเสียง่าย

4. การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและความตระหนักรู้ ตรวจสอบผลกระทบของการศึกษา สิ่งจูงใจ และโครงการสร้างความตระหนักรู้ต่อการลดขยะอาหารในระดับผู้บริโภค วิเคราะห์ปัจจัยทางจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับขยะอาหาร

บรรณานุกรม

กรณิศ รัตนามหัทธนะ. (2562). Small Bites Big Flavor. กรุงเทพ.สำนักพิมพ์แสงแดด

เจษฎา เด่นดวงบริพัทธ์. (2561). วิกฤติขยะอาหาร มาตรการ นโยบายในระดับโลก และความเป็นไปได้ในประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2565. จากhttps://thaipublica.org/2018/03/foodwaste-

สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. จำนวนประชากรและบ้าน. สืบค้น 4 มกราคม 2566.จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statTDD/views/showDistrictData.php?rcode=57&statType=1&year=61.

วานิช สาวาโย (2561). มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐและการขับเคลื่อนการ. วารสารวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา 2561; 4(2):40–52.

สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. จำนวนประชากรและบ้าน. สืบค้น 4 มกราคม 2566.จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statTDD/views/showDistrictData.php?rcode=57&statType=1&year=61.

อรสุภาว์ สายเพชร และฆริกา คันธา. (2565). บทปริทัศน์ว่าด้วยนโยบายสาธารณะเพื่อการจัดการขยะอาหาร. Suranaree J. Soc. Sci., 17 (1), 1-18.

Ajzen, I., & Fishbein, M. (2000). Attitudes and the attitude-behavior relation: Reasoned and automatic processes. European review of social psychology, 11(1), 1-33.

Ajzen, I., & Fishbein, M. (1977). Attitude-behavior relations: A theoretical analysis and review of empirical research. Psychological bulletin, 84(5), 888.

Ajzen, I. (1991). The theory of planned behavior. Organizational behavior and human decision processes, 50(2), 179-211.

Aktas, E., Sahin, H., Topaloglu, Z., Oledinma, A., Huda, A. K. S., Irani, & Kamrava, M. (2018). A consumer behavioural approach to food waste. Journal of Enterprise Information Management, 31(5), 658-673.

Bhatti, S. H., Saleem, F., Zakariya, R., & Ahmad, A. (2023). The determinants of food waste behavior in young consumers in a developing country. British Food Journal, 125(6), 1953-1967.

Fishbein, M. & Ajzen, I. (1977). Belief, Attitude, Intention, and Behavior: An Introduction to Theory and Research. Boston : Addison-Wesley.

Geissdoerfer, M., Savaget, P., Bocken, N. M., & Hultink, E. J. (2017). The Circular Economy–A new sustainability paradigm?. Journal of cleaner production, 143, 757-768.

Gustavsson, J., Cederberg, C., Sonesson, U., Van Otterdijk, R., & Meybeck, A. (2011). Global food losses and food waste – Extent, causes and prevention. Rome : FAO.